หลักการและเหตุผล
แนวโน้มทั่วโลกให้ความสนใจต่อความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในแง่ของการนำทรัพยากรชีวภาพไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษย์ โดยพยายามลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของโลก การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศในตลาดที่ให้ความสำคัญกับการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (green and clean ecology) การใช้ทรัพยากรชีวภาพทดแทนการใช้สารเคมี ซึ่งในอนาคตประเทศไทยจะต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติต่างๆ ทั้งภาวะโลกไร้พรมแดน ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายทุนและเทคโนโลยี เกิดการแสวงหาพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ การอ้างกรรมสิทธิ์ผ่านข้อตกลงทางการค้า การพัฒนาเศรษฐกิจในระบบทุนนิยม จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ประเทศไทยจะต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือ การสร้างความเข้มแข็งด้านอุตสาหกรรมชีวภาพด้วยเทคโนโลยีในประเทศ ผนวกกับการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาไทยเพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพสูงสุด สร้างความเข้มแข็งในการวิจัยและพัฒนาด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เตรียมข้อมูลพื้นฐานเพื่อใช้ในการตัดสินใจทางนโยบายหรือวางแผนการจัดการทรัพยากรชีวภาพของประเทศอย่างเหมาะสม จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนเนื่องจากเป็น “ต้นทุนทางธรรมชาติ” ต่อการพัฒนาประเทศ นำไปสู่ผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างมีประสิทธิภาพและเสริมสร้างการอนุรักษ์ธรรมชาติของคุ้มค่าและยั่งยืน
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้บรรจุงานวิจัยทรัพยากรชีวภาพเข้าในแผนกลยุทธ์ของ สวทช. ที่มุ่งบูรณาการให้เกิดผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยสูงสุด โดยได้บริหารจัดการงานวิจัยทรัพยากรชีวภาพในรูปแบบคลัสเตอร์วิจัย ภายใต้การดำเนินงานของคลัสเตอร์ทรัพยากรชีวภาพ แบ่งออกเป็น 2 โปรแกรม ได้แก่ โปรแกรมการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและโปรแกรมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพในอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการบริหารจัดการทรัพยากรชีวภาพ การอนุรักษ์และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทรัพยากรชีวภาพและระบบนิเวศ การเกิดภัยพิบัติต่างๆ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ เพื่อให้สอดคล้องกับกรอบยุทธศาสตรฺ์ชาติระยะ 20 ปี และแผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558-2564
การประชุมวิชาการ “การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ” เป็นภารกิจหนึ่งของคลัสเตอร์ทรัพยากรชีวภาพ ถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเจ้าภาพหลักคือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เพื่อเป็นเวทีให้นักวิจัย นักวิชาการ และนักศึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ได้มีโอกาสพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือในการวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป การประชุมวิชาการ “การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ” ครั้งที่ 5 ถูกกำหนดให้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “BioD5 plus : “People + Utilization + Sustainability” ในระหว่างวันที่ 11-13 กรกฎาคม 2561 ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี